องค์การบริหารส่วนตำบลท่านัด

Please wait while JT SlideShow is loading images...
Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Italian Japanese Korean Vietnamese

ควันบุหรี่ ภัยร้ายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อีเมล พิมพ์ PDF

ควันบุหรี่ ภัยร้ายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ควันบุหรี่เป็นอันตรายต่อผู้ที่สูดดมเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สูบหรือไม่ได้สูบบุหรี่ก็ตาม เพราะในควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีอันตรายหลายชนิด ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่เป็นประจำอาจเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคปอด โดยเฉพาะเด็กและทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไป อาจเสี่ยงเผชิญปัญหาสุขภาพมากกว่าช่วงวัยอื่น เช่น โรคในระบบทางเดินหายใจอย่างหอบหืด โรคติดเชื้อต่าง ๆ รวมถึงโรคไหลตายในทารก เป็นต้น

1416 ควันบุหรี่ Resized

นอกจากการสูบบุหรี่โดยตรงแล้ว การได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่ต่างกัน โดยบทความนี้จะกล่าวถึงอันตรายจากควันบุหรี่มือสองเป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมาทางลมหายใจ และควันบุหรี่จากบุหรี่ที่กำลังเผาไหม้ ซึ่งมีปริมาณสารเคมีอันตรายมากกว่าและมีอนุภาคขนาดเล็กกว่า ทำให้เคลื่อนที่เข้าไปในปอดและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้ง่าย

สารเคมีอันตรายในควันบุหรี่

ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด โดยต้นยาสูบอันเป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาแปรรูปเป็นบุหรี่มีสารเคมีอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ แคดเมียมและตะกั่ว จากนั้นสารเคมีอีกหลายชนิดจะถูกสร้างขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต และเมื่อจุดบุหรี่ การเผาไหม้จะทำให้สารเคมีชนิดใหม่เกิดขึ้นอีก ภายในควันบุหรี่จึงประกอบไปด้วยสารเคมีมากถึง 7,000 ชนิด ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างน้อย 250 ชนิด และยังมีสารเคมีอีกอย่างน้อย 70 ชนิดที่ก่อมะเร็งได้ เช่น อะซีทอลดีไฮด์ เบนซีน โครเมียม แคดเมียม ฟอร์มาลดีไฮด์ นิกเกิล เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาจึงจัดให้ควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งในคนด้วย

อันตรายจากควันบุหรี่

การสูดดมควันบุหรี่ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายประการ และยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ ดังนี้

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด ควันบุหรี่จะสร้างความเสียหายแก่หลอดเลือด และทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจ ภาวะหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นที่ทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
  • โรคปอด ควันบุหรี่อาจสร้างความเสียหายแก่ระบบทางเดินหายใจ และก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
  • มะเร็งปอด ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่สูดดมควันบุหรี่เป็นประจำอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้มากกว่าคนทั่วไป โดยมีงานวิจัยที่เผยว่าผู้ที่อาศัยอยู่กับผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติ 1.2-1.5 เท่า
  • มะเร็งเต้านม งานวิจัยบางส่วนพบว่าผู้หญิงที่สูดดมควันบุหรี่เป็นประจำอาจเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมมากว่าคนทั่วไป
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว สารเบนซีนที่อยู่ในควันบุหรี่เป็นสารเคมีชนิดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

นอกจากนี้ เด็กและทารกอาจเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มากกว่าคนในช่วงวัยอื่น โดยปัญหาสุขภาพที่มักพบ มีดังนี้

  • น้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ หากผู้ที่ตั้งครรภ์สูดดมควันบุหรี่หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้
  • โรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome) เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุในระหว่างนอนหลับ มักเกิดขึ้นกับทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งอาจเกิดจากสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจและภาวะตื่นตัวขณะนอนหลับทำงานผิดปกติ
  • โรคในระบบทางเดินหายใจ เด็กที่สูดดมควันบุหรี่เป็นประจำอาจเสี่ยงเป็นโรคหอบหืด หรือมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ และหายใจมีเสียงหวีด
  • การติดเชื้อ เด็กที่สูดดมควันบุหรี่เป็นประจำอาจเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น อีกทั้งยังมีโอกาสเป็นหวัดบ่อยกว่าคนทั่วไปด้วย

หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ได้อย่างไร ?

สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ควรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง สูบบุหรี่เฉพาะบริเวณที่กำหนดไว้ เปลี่ยนเสื้อผ้าและล้างมือที่อาจปนเปื้อนสารเคมีจากควันบุหรี่ก่อนสัมผัสหรืออุ้มเด็กและทารก หรือตัดสินใจเลิกบุหรี่ โดยสามารถขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1600 หรือปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีคลินิกเลิกบุหรี่

ส่วนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันการสูบดมควันบุหรี่

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ และไม่อยู่ในบริเวณเขตสูบบุหรี่ เช่น เลือกรับประทานอาหารในร้านที่ห้ามสูบบุหรี่ หรือพักในโรงแรมที่มีห้องสำหรับคนไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น
  • ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ในยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถสาธารณะ
  • ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ในที่พักอาศัย ที่ทำงาน หรือสถานที่สาธารณะ โดยกำหนดให้สูบบุหรี่เฉพาะในห้องหรือบริเวณสำหรับสูบบุหรี่เท่านั้น

อ้างอิง : https://www.pobpad.com/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B

 

ÂÂ