วิธีเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม น้ำป่า ดินโคลนถล่ม

พิมพ์
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มให้เตรียมความพร้อมรับมือเต็มที่ ย้ำให้ประชาชนชนในพื้นที่เสี่ยง สังเกตสีน้ำ หากได้ยินเสียงก้อนหิน กิ่งไม้หัก และน้ำขุ่นให้รีบอพยพขึ้นสู่ที่สูง และหากฝนตกหนักห้ามอยู่ใกล้ต้นไม้เสาไฟฟ้า พร้อมทั้งถอดเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกชนิด และควรระวังเด็กเล็กเป็นพิเศษเพราะเสี่ยงต่อการจมน้ำได้ง่าย ทั้งนี้หากพบผู้บาดเจ็บให้รีบโทรสายด่วน1669ให้เข้าทำการช่วยเหลือทันที

 

ภายหลังจากที่เกิดพายุฝนในหลายพื้นที่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายวันทั่วประเทศไทยนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุลเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่าเราได้จับตาดูสถานการณ์ของปริมาณฝนอย่างใกล้ชิดและได้สั่งเตรียมเจ้าหน้าที่ในเครือข่ายกู้ชีพให้เตรียมพร้อมในการปฏิบัติภารกิจตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น ซึ่งนอกจากการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในหลายหน่วยงานแล้ว พี่น้องประชาชนก็ต้องเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติในเบื้องต้นด้วย โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจะต้องสร้างแผนฉุกเฉิน เช่น หาวิธีการแจ้งเหตุ กระจายข่าว เส้นทางอพยพ กำหนดจุดปลอดภัย และประกาศให้ทราบโดยทั่วกันพร้อมกันนี้ยังต้องสอดส่อง ติดตาม ฟังข่าวสารบ้านเมืองและสำรองปัจจัยสี่ จัดเตรียมน้ำ อาหารแห้ง ยารักษาโรค และของใช้ที่จำเป็น ใส่ถุงกันน้ำโดยจัดทำเป็นชุดๆ เก็บไว้ในที่ปลอดภัย จัดเป็นชุด ให้หยิบฉวยง่ายและหยิบใช้สะดวก

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ในกรณีที่เกิดพายุ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจะต้องฟังประกาศเตือนภัย และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อระวังภัยโดยการตรึงประตู หน้าต่าง ให้มั่นคง ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรขณะฝนตกฟ้าคะนอง เตรียมอุปกรณ์จำเป็น เช่น เทียนไข ไฟฉาย ยาประจำตัวติดตัวตลอด ขณะฝนตกฟ้าคะนอง ห้าม อยู่ใต้ต้นไม้ เสาไฟ และห้าม โทรศัพท์  เด็ดขาด หากรู้สึกว่าบ้านกำลังจะพังให้ ห่อตัวเองด้วยผ้าห่ม หลบใต้โต๊ะ ใต้เตียง หรือที่แข็งแรงมั่นคง

นพ.ชาตรีกล่าวถึงกรณีการเตรียมหากเกิดดินโคลนถล่มเพราะฝนตกหนักว่า ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสังเกตสัญญาณเตือนภัยของเหตุดินโคลนถล่ม เช่น เสียงต้นไม้หัก หินก้อนใหญ่ตกลงมา น้ำมีสีขุ่น อพยพไปในพื้นที่สูงและมั่นคง ตามเส้นทางที่เตรียมการไว้ เมื่อได้รับสัญญาณเตือนภัยตั้งสติ ท่องไว้€œรักษาชีวิตก่อน ทรัพย์สินไว้ทีหลัง ให้นำของใช้เฉพาะที่จำเป็นติดตัวไปเท่านั้นหากพลัดตกน้ำ หาต้นไม้ใหญ่เกาะ รีบขึ้นจากน้ำให้ได้ หากหนีไม่ทัน ให้ม้วนตัวเป็นทรงกลม ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันศรีษะกระแทก

ส่วนการป้องกันเหตุน้ำป่าน้ำท่วมฉับพลันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องรีบอพยพขึ้นที่สูง โดยหลีกเลี่ยงแนวธารน้ำ ช่องระบายน้ำ สวมเสื้อชูชีพ ห้ามเดินฝ่ากระแสน้ำ และ ใช้ไม้ปักดินคลำทาง เพื่อสังเกตว่าดินตื้นลึกแค่ไหนห้ามขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม และหากถ้าน้ำขึ้นสูงรอบๆรถ ให้รีบออกจากรถ อย่าเสี่ยงช่วยผู้อื่นหากอุปกรณ์ไม่พร้อม เพราะอาจไม่รอดทั้งคู่ และสิ่งที่สำคัญในทุกเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษคือเด็กเล็กเพราะอาจเสี่ยงต่อการจมน้ำได้ง่าย ซึ่งในทุกกรณีเมื่อพบผู้บาดเจ็บจะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน1669 หากพบผู้บาดเจ็บ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว

ทั้งนี้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ออกประกาศพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มน้ำล้นตลิ่ง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ลำพูน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร กาฬสินธิ์ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
http://www.thaiemsinfo.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=112&auto_id=8&TopicPk=