องค์การบริหารส่วนตำบลท่านัด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอดำเนินสะดวก อยู่ห่างจากอำเภอดำเนินสะดวก ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดราชบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวม 15.66 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,789 ไร่
ทิศเหนือ | มีเขตติดต่อ | ตำบลแพงพวย, ดอนกรวย |
ทิศใต้ | มีเขตติดต่อ | ตำบลศรีสุราษฎร์ |
ทิศตะวันออก | มีเขตติดต่อ | ตำบลดอนไผ่ |
ทิศตะวันตก | มีเขตติดต่อ | ตำบลแพงพวย, สี่หมื่น |
เนื้อที่
องค์การบริหารส่วนตำบลท่านัด มีเนื้อที่ทั้งหมดรวม 15.66 ตารางกิโลเมตร หรือจำนวน 9,789 ไร่ มีประชากรทั้งหมด จำนวน 7,032 คน แยกเป็นชาย 3,392 คน หญิง 3,653 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 2,092 ครัวเรือนความหนาแน่นของประชากร เฉลี่ย 449.04 คน/ตร.กม.
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นที่ ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลผ่าน มีน้ำไหลตลอดปี พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว ร่วน ทราย เหมาะแก่การ ทำสวนผลไม้ และปลูกพืชผักต่าง ๆ เช่น มะพร้าว องุ่น มะนาว ฝรั่ง ถั่วฝักยาว เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไป ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่าน ทำให้เกิดฤดูกาล 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อนไม่ร้อนจนเกินไป ฤดูหนาวไม่หนาวจนเกินไป อุณหภูมิสูงสุด ประมาณ 35 – 40 องศาเซลเซียส ต่ำสุดประมาณ 23 – 28 องศาเซลเซียส สำหรับช่วงระยะเวลาของฤดูกาล ในรอบ 1 ปี โดยประมาณดังนี้
ฤดูร้อน ช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนและค่อนข้างแห้งแล้ง
ฤดูฝน ช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย ประมาณ 80 – 100 มิลลิเมตร
ฤดูหนาว ช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 23 – 25 องศาเซลเซียส
จำนวนหมู่บ้านและการปกครอง
องค์การบริหารส่วนตำบลท่านัด แยกพื้นที่ปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน ดังนี้
ประวัติความเป็นมาของชื่อแต่ละหมู่บ้าน
หมู่ที่ 1 บ้านท่านัด มีนายสมชาย อารมณ์ชื่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน
เนื่องจากบ้านท่านัดเป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างเขตพื้นที่ ที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ส่วนพื้นที่ลุ่มทางใต้ จะประกอบอาชีพทำสวน เช่น มะม่วง มะพร้าว แตงโม รวมไปถึงพืชเกษตรกรรมประเภทผัก อาทิเช่น พริก หอม กระเทียม เป็นต้น ในสมัยก่อน ในบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านในเขตพื้นที่สูง ทางเหนือของบริเวณคลองท่านัด จะนำข้าวมาแลกกับพริก หอม กระเทียม ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกมากทางตอนใต้ของตำบล ด้วยเหตุนี้ พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณดังกล่าวนี้ว่า “ท่านัด” ซึ่งหมายถึง จุดนัดพบเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้านั่นเอง แต่ด้วยสาเหตุที่ว่า หมู่ที่ 1 เป็นหมู่แรกของตำบล จึงใช้ชื่อของตำบลมาเป็นชื่อของหมู่บ้านด้วย
หมู่ที่ 2 บ้านรางสีหมอก มีนายเสรี อรรคทิมากูล เป็นผู้ใหญ่บ้าน
เนื่องจากสมัยก่อนบริเวณที่เรียกว่า “คลองรางสีหมอก” เคยเป็นคอกม้าขนาดใหญ่ ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นจุดที่ชุมนุมรวมม้าจำนวนมาก ซึ่งม้าส่วนใหญ่ที่เลี้ยงจะมีลักษณะรูปร่างเป็นสีหมอก จึงทำให้ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “บ้านรางสีหมอก” คือบริเวณโรงเรียนบ้านราง สีหมอกในปัจจุบัน
หมู่ที่ 3 บ้านคลองมอญ มีนายไพฑูรย์ ครองทรัพย์สิน เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ในสมัยก่อน ชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณสองฝั่งคลองนี้เป็นจำนวนมาก และได้มีการติดต่อคมนาคมโดยใช้เส้นทางนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ชาวมอญยังได้สร้างวัดขึ้น โดยให้ชื่อว่า “วัดมอญ” หรือ “วัดอมรญาติสมาคม” ในปัจจุบัน การเดินทางไปวัดจะต้องใช้เส้นทางเรือผ่านคลองนี้เพียงทางเดียว จึงทำให้ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านคลองมอญ”
หมู่ที่ 4 บ้านรางยาว มีนายจงรักษ์ หงส์ศุภางค์พันธ์ เป็นผู็ใหญ่บ้าน
เนื่องจากตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าว่า เมื่อก่อนชาวบ้านจะตั้งบ้านเรือนอยู่ 2 ฝั่งลำคลอง ซึ่งลำคลองนั้น แต่ละบ้านจะอยู่ห่างกันมาก แต่เนื่องจากยังมีบ้านเรือนไม่มากนัก ทำให้ยังไม่มีถนนตัดผ่าน ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องใช้ทางน้ำเป็นหลักในการเดินทาง ซึ่งระยะทางของคลองในสมัยก่อนไม่สามารถวัดระยะทางได้เนื่องจากคลองมีความยาวมาก ชาวบ้านจึงเอาลักษณะดังที่กล่าวข้างต้นมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน โดยจะเรียกกันว่า “บ้านรางยาว” ตามชื่อของคลองรางยาวในสมัยนั้น
หมู่ที่ 5 คลองราษฎร์เจริญ มีนายไพศาล เหลืองสุวรรณ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
สมัยก่อนมีวัดชื่อเดิมว่า “วัดสุน” ซึ่งเป็นวัดที่ชาวบ้านศรัทธาและนับถือกันมาโดยตลอด ภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดสุนให้เป็น “วัดราษฎร์เจริญธรรม “ ทำให้ชาวบ้านสองฝั่งคลองนี้เรียกคลองนี้ว่า “คลองราษฎร์เจริญ” ซึ่งมาจากชื่อวัดนั่นเอง
หมู่ที่ 6 บ้านคลองตาลักษณ์ (ตาเล็ก) มีนายเอกมล ทองระหง เป็นกำนันตำบลท่านัด
เนื่องจากคลองตาเล็กในปัจจุบัน โดยเดิมชื่อ “คลองตาลักษณ์” ชาวบ้านเล่าว่า ในสมัยก่อนชาวบ้านจะใช้คลองในการเดินทาง จึงได้มีการขุดคลอง ซึ่งการขุดคลองก็มีอุปสรรค โดยเส้นทางในการขุดคลองจะมีบ้านของคุณตาลักษณ์ขวางอยู่ ซึ่งท่านไม่ยินยอมให้มีการขุดคลองผ่านบ้านของท่าน เพราะถ้ามีการขุดคลองจริง ท่านต้องได้รื้อบ้านออกจากบริเวณนั้น จึงได้มีการขอความกรุณาจากคุณตาลักษณ์ว่าถ้าท่านยินดีให้ทำการขุดคลองผ่านบ้านท่านแล้ว ก็จะใช้ชื่อของท่านเป็นชื่อคลองที่จะขุด หลังจากนั้นท่านก็ยินดีให้ทำการขุดคลอง ท่านจึงเป็นบุคคลที่ชาวบ้านนับถือในการเสียสละพื้นที่ในการขุดคลองและเมื่อท่านเสียชีวิต จึงได้นำชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อของคลองตามที่ได้บอกท่านไว้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ตาลักษณ์ แต่ในปัจจุบันทางอำเภอ ได้ส่งชื่อของหมู่บ้านคลองตาลักษณ์ ถูกเปลี่ยนมาเป็นตาเล็กเพื่อให้ข้อมูลตรงกัน และเพื่อความสะดวกในการดำเนินงานตามขั้นตอนของทางราชการ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านก็ยังเรียก คลองตาลักษณ์อยู่เหมือนเดิม
หมู่ 7 บ้านคลองวัดหลักหก มีนายศุภโชค จิรธรธรณ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
เนื่องจากมีการแบ่งเขตคลองโดยใช้สัญลักษณ์เป็นเสาหิน ซึ่งเป็นเสาหินที่สลักเลข 6 เอาไว้ และในบริเวณนี้มีวัด ซึ่งตั้งเรียกตามหลักเขตนี้ คือ “วัดหลักหก” และเนื่องจากวัดนี้อยู่ติดกับคลองจึงทำให้ชาวบ้านในบริเวณนี้เรียกคลองนี้ว่า “คลองวัดหลักหก” พร้อมทั้งนำมาเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านด้วย
หมู่ 8 บ้านคลองวัดอุบล มีนายบุญชัย ธรรมรักษากุล เป็นผู้ใหญ่บ้าน
บริเวณคลองนี้มีวัดชื่อว่า “วัดอุบลวรรณาราม” ตั้งอยู่ และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เรียกกันย่อ ๆ ว่า “วัดอุบล” ดังนั้น คลองนี้จึงถูกเรียกตามชื่อวัดไปด้วยว่า “คลองวัดอุบล”