องค์การบริหารส่วนตำบลท่านัด

Please wait while JT SlideShow is loading images...
Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Italian Japanese Korean Vietnamese

โรคตาแดง

อีเมล พิมพ์ PDF
โรคตาแดง

alt

เราควรมาทำความรู้จักโรคตาแดงนี้กันให้มากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อทราบวิธีการปฏิบัติตัว กรณีที่ท่านเป็นอยู่  จะได้หายเร็วขึ้น และถ้ายังไม่เป็น จะได้ทราบวิธีการการป้องกันที่ถูกต้องค่ะ

จากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม  พบมีผู้ป่วยแล้วกว่าแสนรายทั่วประเทศ ซึ่งสูงเกือบเท่ากับปี 2555 ตลอดปี และพบในผู้ป่วยทุกวัย เกือบครึ่งหนึ่งเป็นเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน เนื่องจากอาจมีโอกาสเล่น, สัมผัสกันและอยู่เป็นกลุ่มมากกว่าผู้ใหญ่ โรคนี้มักพบในช่วงหน้าฝน ซึ่งมีสภาพอากาศที่ชื้นและเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุ นอกจากนั้นแหล่งน้ำท่วมขังมีสิ่งปนเปื้อนที่กระจายอยู่ทั่วไป ก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของเชื้อโรคและเป็นปัจจัยเสริมอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

€œโรคตาแดง” หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “โรคเยื่อตาขาวอักเสบ” (Conjunctivitis, pink eye) นั้น เป็นการอักเสบของชั้นเนื้อเยื่อใสที่คลุมอยู่บนตาขาว ซึ่งจะมีการเปลี่ยนเป็นสีแดงอ่อนหรือแดงจัด จากการอักเสบและเส้นเลือดฝอยขยายตัว เมื่อพูดถึงโรคตาแดงที่จำกัดอยู่เฉพาะตำแหน่งเยื่อตาแล้ว พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ หรือโรคภูมิแพ้ที่ตา สาเหตุอื่น เช่น การได้รับสารพิษ, การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา, การใส่ Contact lens, โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune) ในกรณีที่ติดเชื้อ ชนิดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุหลัก คือ เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โดยมักพบเป็นเชื้อไวรัสมากกว่า

อาการของโรคตาแดง

ได้แก่ การมีเยื่อตาสีแดง น้ำตาไหล ปวดตา แสบตา แพ้แสง เคืองตา คันตา มีขี้ตา สีของขี้ตาจะแตกต่างกันไปตามสาหตุ เช่น ขี้ตาใส สีขาว หรือขุ่น มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือโรคภูมิแพ้ ในขณะที่ขี้ตาสีเขียวหรือเหลือง มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บางรายอาจพบมีเยื่อตาบวมหรือจุดเลือดออกที่ใต้เยื่อตาได้ อาจเป็นข้างเดียว สองข้าง หรือเป็นข้างใดข้างหนึ่งนำมาก่อนก็ได้ โดยทั่วไปโรคตาแดงมักไม่ทำให้การมองเห็นลดลง แต่ถ้ามีอาการปวดตา หรือตามัวลงมากผิดปกติ อาจต้องคิดถึงโรคตาชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น โรคต้อหิน โรคม่านตาอักเสบ

สาเหตุของโรคตาแดงมีอะไรบ้าง?

โรคตาแดงเกิดจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยตาแดง เช่น น้ำตา ขี้ตาที่ติดอยู่ตามสิ่งของ พื้นผิวต่างๆ หรือในน้ำ แล้วมาสัมผัสที่ตา, การใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา เครื่องสำอาง, การเล่นน้ำในที่ท่วมขังและสกปรก หรือจากการที่พาหะโรค เช่น แมลงหวี่ แมลงวัน นำมาสู่ตาเรา สาเหตุของโรคตาแดง ได้แก่

1. เชื้อไวรัส ที่พบบ่อย คือ Adenoviruses และ Herpes Simplex viruses

2. เชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อย คือ Staphylococcus aureus, Streptococcus pneumoniae และ Haemophilus influenzae

3. โรคภูมิแพ้ สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ละอองเกสรดอกไม้ น้ำหอม เครื่องสำอาง ควันบุหรี่ ไรฝุ่น หรือแม้แต่ยาหยอดตาบางชนิด

4. สาเหตุอื่น เช่น สารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ที่มีความเป็นกรดหรือด่างมาก, การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา, การใส่ Contact lens, โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune)

การวินิฉัยโรค

เมื่อมีอาการ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคตาแดงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจมีโรคอื่นเกิดขึ้นร่วมได้ เช่น แผลที่กระจกตา กระจกตาอักเสบ การวินิจฉัยด้วยลักษณะภายนอกและการมองด้วยตาเปล่าจึงอาจไม่ละเอียดพอ ยิ่งไปกว่านั้น การรักษาโดยซื้อยาหยอดเอง อาจไม่หายหรือมีผลข้างเคียงจากยาโดยไม่คาดคิดได้

นอกจากการวินิจฉัยโรคตาแดงด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยการตรวจของจักษุแพทย์แล้ว การตรวจร่างกายอาจพบ ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าใบหูบวมโต ซึ่งเป็นลักษณะของการติดเชื้อไวรัส การนำขี้ตาไปเพาะเชื้อ อาจทำในบางรายที่สงสัยเชื้อโรคบางชนิด หรือทำเมื่อแพทย์ให้การรักษาแล้ว แต่ไม่ดีขึ้นหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา นอกจากนั้นยังมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ที่ทำในเฉพาะคนไข้บางราย อาจช่วยหาสาเหตุได้ เช่น

1. การทำ patch test เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้

2. การขูดเยื่อตาเพื่อนำไปดูเซลล์ (conjunctival scrape for cytology) เพื่อหาเชื้อ Chlamydia, เชื้อรา, การเจริญเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเซลล์ เช่น dysplasia

3. การตัดเยื่อตาออกมาตรวจ (conjunctival incisional biopsy) เพื่อหากลุ่มโรค granulomatous diseases เช่น sarcoidosis หรือเมื่อสงสัย dysplasia

การรักษา

โดยมากตาแดงมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ควรหยุดเรียน หรือหยุดงานอย่างน้อย 3 วัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค พักผ่อน และพักการใช้สายตา การรักษาโรคตาแดง แบ่งตามสาเหตุ ได้แก่

1. โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ ได้แก่ ยาหยอดตา และอาจมียาป้ายตา ในคนไข้บางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานและแบบฉีดร่วมด้วย

2. โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง แต่ต้องใช้เวลา และไม่มีการรักษาเฉพาะ ยกเว้นเชื้อพิเศษบางชนิด ที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส การใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดอาการคัน ยาลดปวด อาจช่วยบรรเทาอาการและทำให้สบายตามากขึ้น

3. โรคตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ก่อนเป็นอันดับแรก การประคบเย็นสามารถช่วยลดการอักเสบได้ รวมถึงการหยอดน้ำตาเทียมที่ช่วยให้สบายตา แต่ในกรณีที่มีอาการมาก อาจต้องใช้ยากลุ่ม nonsteroidal anti-inflammatory medications, antihistamines, mast cell stabilizers หรือ steroid ร่วมด้วย

4. โรคตาแดงที่เกิดจากสัมผัสสารเคมีหรือสารพิษ อันดับแรกที่ควรต้องทำ คือ ใช้น้ำสะอาด หรือถ้าจะให้ดี คือ Saline solution หรือ Ringer’s lactate solution ในปริมาณที่มากล้างตาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ร่วมกับการใช้ยารักษาตามอาการ อย่างไรก็ตาม อาจมีการรักษาพิเศษอื่นเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตรวจพบ และความรุนแรงของโรค

การป้องกันโรคตาแดง

1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่

2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งโดยตรงหรือของที่ปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ เครื่องสำอาง แว่นตา

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขังหรือน้ำสกปรก ระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตา หากสัมผัสแล้ว ให้รีบทำความสะอาดบริเวณนั้น และ/หรืออาบน้ำให้สะอาดทันที

4. ไม่ควรใช้มือขยี้ตา

5. ผู้ที่เป็นโรคตาแดง ควรงดการใช้ของสาธารณะหรือไปในที่สาธารณะจนกว่าจะหาย เช่น การเดินห้างสรรพสินค้า การใช้รถโดยสารประจำทาง การลงสระว่ายน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่ กระจายของเชื้อ

6. ไม่ควรใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น ควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการหยอดยาเสมอ