องค์การบริหารส่วนตำบลท่านัด

Please wait while JT SlideShow is loading images...
Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Italian Japanese Korean Vietnamese

ไข้เลือดออกไม่ถึงตาย หากรู้อาการ และป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น

อีเมล พิมพ์ PDF

ไข้เลือดออกไม่ถึงตาย หากรู้อาการ และป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น


เป็นที่รู้กันดีว่าโรคไข้เลือดออกมีพาหะคือยุงลาย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ลึกว่าโรคไข้เลือดออกนั้นอันตรายแค่ใหน โดยเฉพาะอาการเริ่มแรกนั้นต้องสังเกตุอย่างไร จึงจะรู้ว่าเป็นไข้เลือดออกไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่เพราะมีบางคนที่ยังแยกไม่ได้ว่าไข้หวัดใหญ่กับไข้เลือดออกมีความแตกต่างกันอย่างไร

โรคไข้เลือดออก ใครต่างก็ทราบกันดีแล้วว่าเป็นโรคที่น่ากลัว และควรดูแลสุขภาพให้รอดพ้นจากความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้จะดีที่สุด เนื่องจากอาการและผลของมันสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างร้ายแรง บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตดังนั้น เราจึงควรรู้จักสาเหตุและวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นไข้เลือดออก พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยยิ่งควรใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งคุณสามารถติดตามรายละเอียดเพื่อทำความรู้จักโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่สาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันอย่างละเอียดถูกต้องจากข้อมูลดังต่อไปนี้ได้เลย

สาเหตุของโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากตัวไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงลายเพศเมียจะเป็นตัวที่คอยกัดคนในช่วงเวลากลางวันเพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร สำหรับเชื้อไวรัสนั้นจะเข้าสู่กระเพาะของยุง ซึ่งมันจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ที่เป็นบริเวณผนังกระเพาะ และจะยิ่งเพิ่มจำนวนไวรัสมากขึ้นจนออกมาจากเซลล์ผนังกระเพาะ จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลายของยุงที่พร้อมจะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป สำหรับระยะเวลาในการฟักตัวในยุงนั้นจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 8-12 วัน และเมื่อยุงตัวนั้นไปกัดคนอื่นก็จะทำการปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัดต่อไป เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนผ่านระยะเวลาในการฟักตัวนานถึง 5-8 วัน ผู้ป่วยก็จะมีอาการของโรคไข้เลือดออกแสดงออกมา

alt

ไข้เลือดออกไม่ถึงตาย ...หากรู้ตั้งแต่เริ่มต้น

โรคไข้เลือดออก อาจจะเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับหลายคน แต่ความจริงแล้วโรคนี้จะไม่มีความอันตรายถึงตายหากรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาทัน ทุกคนรู้กันดีว่าไข้เลือดออกมีพาหะคือยุงลายและมีเชื้อไวรัสเด็งกี่เป็นพาหะนำเชื้อ ซึ่งเป็นโรคที่มักระบาดในหน้าฝน โดยอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะต้นจะมีอาการเป็นไข้ตัวร้อน ปวดศีรษะ และจะมีผื่นแดงบริเวณใต้ผิวหนัง รวมถึงมักปวดเมื่อยตามร่างกาย จะมีอาการหนักใน 3-5 วัน เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นอาการก็อาจจะทุเลาลงไประยะหนึ่ง และมีอาการรุนแรงขึ้นมาอีก ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะหายจากโรคได้ภายในไม่กี่วันเท่านั้น

การป้องกันไข้เลือดออก

  1. แจ้งสาธารณสุขในเขตพื้นที่มาทำการฉีดยากันยุง
  2. พยายามอย่าให้ผู้ป่วยที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านโดนยุงกัดในระยะเวลา 5 วันแรก เพราะระยะนี้ผู้ป่วยจะยังมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกหลงเหลืออยู่ ซึ่งหากโดนยุงกัดอาจทำให้แพร่กระจายสู่คนในบ้านได้
  3. ทำการกำจัดลูกน้ำยุงลายรอบบริเวณบ้าน ถ่ายถ้วยน้ำรองขาโต๊ะหรือน้ำในแจกัน
  4. ติดมุ้งลวด หรืออย่างน้อยควรกางมุ้งเวลานอน
  5. ทายากันยุงป้องกันยุงกัด
    เมื่อรู้เท่าทันไข้เลือดออกแบบนี้ รับรองได้ว่าเมื่อเป็นแล้วอาจมีสิทธิ์รอดแน่นอน

alt

อาการของโรคไข้เลือดออก

อย่างที่ทราบแล้วว่าเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเป็นเวลา 5-8 วันก็จะปรากฏอาการของโรคอย่างชัดเจนออกมา จากนั้นจะมีอาการที่รุนแรงแตกต่างกันออกไป ในเบื้องต้นจะมีอาการคล้ายกับเป็นไข้และมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้นยังมีอาการแสดงออกมาชัดเจน โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้

  1. ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน และยังมีไข้สูงที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน โดยส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งในบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
  2. ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออก ซึ่งพบบ่อยที่สุดในบริเวณผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่าผู้ป่วยมีเส้นเลือดเปราะและแตกง่ายร่วมกับมีจุดเลือดออกเป็นจุดเล็กๆ กระจายอยู่เต็มตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ ทั้งนี้อาจมีเลือดดำหรือเลือดออกตามไรฟัน สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในรายที่มีอาการขั้นรุนแรงอาจมีอาการอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งก็มักจะเป็นเลือดสีดำ สำหรับอาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่นั้นจะพบร่วมกับภาวะช็อกในรายที่มีการช็อกอยู่นาน
  3. ผู้ป่วยจะมีอาการตับโต และเมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ โดยส่วนใหญ่จะพบว่าตับโตในช่วงวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย
  4. ผู้ป่วยจะมีภาวการณ์ไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ซึ่งประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง หรือที่เราเรียกว่าภาวะช็อกนั่นเอง เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอดหรือช่องท้อง เกิด Hypovolemic Shock ซึ่งโดยส่วนใหญ่มันจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการที่ผู้ป่วยมีไข้ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับช่วงเวลาที่ผู้ป่วยเกิดอาการช็อกนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ด้วยเช่นกัน อาจจะเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 หรือวันที่ 8 ของวันที่ป่วย ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการที่แย่ลง โดยเริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเริ่มเย็น ชีพจรเบา และความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ข้อแตกต่างระหว่างไข้เลือดออก กับไข้ธรรมดา

  1. มีไข้สูงตั้งแต่ 39 - 90 องศาเซลเซียส
  2. ส่วนมากไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ
  3. อาจมีการปวดเมือยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปาดดวงตา
  4. อาจพบว่ามีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
  5. มีเลือดออก (กรณีอาการถึงขั้นรุนแรง) เลือดกำเดาไหล เลือดตามไรฟัน อาจถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด

การแยกลักษณะของ “ตุ่ม” กับไข้เลือดออก

การสังเกตลักษณะของตุ่มที่เกิดขึ้นว่ามาจากแมลงกัดต่อย ผลพวงจากโรคอื่น หรือเป็นตุ่มที่มาจากไข้เลือดออก ซึ่งจะมีทั้งแบบที่มีไข้ร่วมด้วยและแบบที่ไม่มีอาการไข้ บางครั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจำเป็นต้องสังเกตอาการให้ดีดังนี้

กรณีที่เป็นตุ่มเกิดจากแมลงกัดต่อย

ตุ่มจากแมลงกัดต่อย ส่วนมากแล้วพบว่าเป็นตุ่มนูน หรือเห่อขึ้นมาเป็นจุดๆ ตามผิวหนังของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นพื้นที่เดียว แผ่กระจายในจุดเดียวกัน แต่ในตำแหน่งอื่นกลับไม่พบตุ่มนูน บางครั้งมีลักษณะเห่อเหมือนกับลมพิษ อาจมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนมากการกัดของแมลงแล้วเกิดเป็นตุ่มจะไม่มีไข้ นอกจากเป็นแมลงมีพิษ แล้วมีอาการแพ้

กรณีที่เป็นตุ่มเกิดจากโรคมือเท้าปาก

ตุ่มจากโรคมือเท้าปาก พบได้เช่นเดียวกันกับในโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะมีไข้ร่วมด้วย พร้อมกับอาการเจ็บปาก กินอาหารได้น้อย มีแผลที่กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ตุ่มหรือผื่นแดงจะเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ ผิวหนังของก้น และอาจพบตามลำตัว แขนและขาได้ อาการจะคงอยู่ประมาณ 2-3 วันก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และหายได้ภายใน 1 อาทิตย์

alt

กรณีที่เป็นตุ่มเกิดจากไข้เลือดออก

ตุ่มที่เกิดขึ้นจากไข้เลือดออก ควรสังเกตตั้งแต่อาการไข้ที่จะพบร่วมด้วย หากไข้สูงนำมาแล้ว 2-7 วัน ภายหลังที่ไข้เริ่มลดลง ในระยะดังกล่าวจะปรากฏผื่นแดงขึ้นมา ผื่นเหล่านี้เมื่อขึ้นมาแล้วจัดอยู่ในระยะที่ต้องระมัดระวัง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อคได้ ลักษณะของตุ่มจะเป็นตุ่มแดง มีขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา ลำตัว หรือตามใบหน้า

การรักษาโรคไข้เลือดออก

ในขณะนี้ยังไม่มียาชนิดใด ที่สามารถต่อต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออกได้ แพทย์จะให้การรักษาโดยรักษาไปตามอาการในแบบประคับประคองไปก่อนเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็จะเกิดผลดีได้ หากแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยพบโรคได้ตั้งแต่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ อีกทั้งแพทย์จะต้องมีความเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคและให้การรักษารวมทั้งการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยยังคงอยู่ในช่วงวิกฤตประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วไหลของพลาสมา

ห้ามใช้ยาแอสไพริน กับผู้ป่วยไข้เลือดออกเด็ดขาด

Reye's Syndrome can be fatal | TheInfoMine

สิ่งนี้ทุกคนควรจำให้ขึ้นใจ ไม่ว่าจะป่วยด้วยอาการมากน้อยแค่ไหนก็ใช้ยาชนิดนี้ในผู้ป่วยไข้เลือดออกไม่ได้ รวมถึงยากลุ่ม NSAIDS เพราะในยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติจับตัวกันเป็นก้อนเลือด ซึ่งยานี้อาจไปกระตุ้นอาการเลือดออกให้มากกว่าเดิมได้นั่นเอง

ป่วยมีไข้แค่ใหน จึงต้องนำส่งโรงพยาบาล ?

อาการเริ่มแรกของไข้เลือดออกก็แทบจะไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาเลย แต่ไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอและไม่มีน้ำมูก จึงทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นอาการของหวัดจึงไม่ค่อยตื่นตัว แต่จะมารู้ตัวอีกครั้งก็เมื่อมีอาการ เลือดออกมากผิดปกติและมีไข้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด มือ เท้าเย็น ตาลาย เหงื่อออกมาในช่วงที่ไข้ลด อาการเหล่านี้คืออาการชนิดที่รุนแรงจึงต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วนเพราะคนไข้อาจเกิดอาการช็อคหมดสติได้

หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ไม่ควรประมาท! แต่ควรรีบไปหาแพทย์ให้วินิจฉัยทันที เพื่อป้องกันอันตรายในระยะวิกฤต จนอาจส่งผลถึงชีวิต

ไข้เลือดออกรักษาได้ (ถ้ารู้ตัวแต่เนิ่นๆ)

บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าโรคไข้เลือดออก ก็สามารถรักษาไข้หายขาดได้แล้ว ซึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น... ก็สังเกตุได้จากอาการไข้ที่ลดลงภายใน 24-48 ชั่วโมง คนไข้จะรู้สึกตัว ร่าเริง เริ่มทานอาหารได้บ้างเล็กน้อย นั่นจะเป็นอาการบ่งบอกว่าผู้ป่วยกำลังจะหายจากโรคไข้เลือดออกแล้วนั่นเอง

alt

วิธีดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

  1. ในช่วงที่ผู้ป่วยมีไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้พร้อมกัน โดยพาะเด็กที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาลดไข้ และยาลดไข้นั้นควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ที่สำคัญห้ามใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกร็ดเลือดในร่างกายเสียการทำงาน อีกทั้งยังทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกมาได้ง่ายขึ้น
  2. ควรชดเชยน้ำให้แก่ผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้ และมีอาการเบื่ออาหาร รวมทั้งมีอาการอาเจียน จึงทำให้ขาดน้ำในปริมาณที่มาก ดังนั้นจึงควรชดเชยน้ำด้วยการให้ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
  3. หมั่นติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
  4. ต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ปลอดยุง ควรมีมุ้งลวดหรือกางมุ้งเพื่อป้องกันยุง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
  5. ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  6. ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน
  7. ดื่มน้ำหรือเกลือแร่ให้มากพอ โดยสังเกตที่สีปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน หากปัสสาวะสีเข้ม ต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
  8. เช็ดตัวผู้ป่วยด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น ควรรักษาอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยไม่ให้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส กรณีที่มีไข้ ห้ามเช็ดตัวหรืออาบน้ำด้วยน้ำเย็น เพราะผู้ป่วยอาจสั่นได้
  9. ควรรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล ตามขนาดที่แพทย์สั่ง เพราะหากรับยาเกินขนาด อาจทำให้ตับอักเสบได้
  10. ห้ามให้ผู้ป่วยทานยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAIDS เด็ดขาด เนื่องจากยาทั้ง 2 ตัว ต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด อาจไปกระตุ้นอาการเลือดออกได้ 
  11. ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ งดใช้ยากลุ่มปฏิชีวนะ เพราะเชื้อไวรัสของโรคไข้เลือดออกไม่ใช้เชื้อแบคทีเรีย จึงไม่จำเป็นกับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเลย
  12. ควรรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และรสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม หรือแกงจืด เป็นต้น
  13. ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือน้ำตาล เพราะเวลาปัสสาวะและอุจจาระอาจสังเกตได้ยากว่าสิ่งที่ผู้ป่วยขับถ่ายออกมามีเลือดปนมาด้วย 

ช่วงหน้าฝน เป็นช่วงที่ต้องระวังไข้เลือดออก เพราะเป็นช่วงที่ยุงลายออกอาละวาดหนัก ทุกคนควรป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างจากยุงลายให้มากที่สุด

หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น มีไข้สูงต่อเนื่อง และมีอาการเตือนที่รุนแรง ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งอาการจะมีดังนี้

  • ผู้ป่วยมีอาการซึมหรืออ่อนเพลียมากขึ้น
  • ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
  • มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนตลอดเวลา
  • มีอาการปวดท้องมาก
  • เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำมีเลือดปน
  • ผู้ป่วยปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลยในระยะ 4-6 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิด หรือเอะอะโวยวาย
  • หากเป็นคนไข้เด็กอาจร้องกวนตลอดเวลา
  • มีอาการตัวเย็นชื้น เหงื่อออก สีผิวคล้ำลง ที่ตัวลาย ซึ่งในขั้นนี้อาจช็อกได้

สำหรับการดูแลตัวเองเพื่อห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกนั้นก็คือ การพยายามป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการนอนในมุ้ง หมั่นสวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว และควรใช้สารยา(กัน)ไล่ยุงด้วย พร้อมกันนี้ การหมั่นออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ง่ายดายเท่านี้ก็จะทำให้คุณและคนที่คุณรักห่างไกลความเสี่ยงของการเป็นไข้เลือดออกได้มากขึ้นแล้ว

คำถามจากผู้ป่วยท่านอื่นเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก

วัคซีนไข้เลือดออก ถ้าเป็นแล้วควรจะฉีดอีกมั้ยค่ะ

คำตอบ:สามารถฉีดได้ค่ะ เพราะไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ค่ะ ซึ่งสามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นที่ผู้ป่วยยังไม่เคยติดได้ค่ะ แต่วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่สามารถป้องกันได้ 100 % สามารถป้องกันการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65ค่ะ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน สามารถลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้ และยังสามารถลดอัตราการป่วยมีภาวะเลือดออกรุนแรงจากไวรัสเดงกีได้ โดยวัคซีนนี้ทำมาจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ที่ประกอบด้วย เชื้อไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ DEN1, DEN2, DEN3 และ DEN4 ประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก, ประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน, และอายุของผู้ได้รับวัคซีน ค่ะ - ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)